หน้าหลัก

          บริการของเรา

          บุคลากร

          สาระน่ารู้

          กิจกรรม

          ติดต่อเรา

          คำถามที่พบบ่อย

          แบบทดสอบ

          ผังเว็บไซต์

 

 
 
 
   

1) การให้คำปรึกษาแบบรายบุคคล
2) การให้คำปรึกษาแบบรายกลุ่ม
3) การให้คำปรึกษาแบบครอบครัว

1) การให้คำปรึกษาแบบรายบุคคล
            การให้คำปรึกษารายบุคคล จะช่วยให้คุณได้เข้าใจถึงสาเหตุของความกังวลหรือความไม่สบายใจ ซึ่งจะนำคุณไปสู่การแก้ไขได้ เป็นการช่วยให้คุณได้ย้อนกลับไปพิจารณาสิ่งที่คุณได้ทำ เพื่อนำมาประเมินและหาทางรับมือกับปัญหาได้ดีกว่าเดิม

กระบวนการให้คำปรึกษาแบบรายบุคคล
            เมื่อคุณมาพบกับผู้ให้คำปรึกษาเป็นครั้งแรก ผู้ให้คำปรึกษาจะรวบรวมข้อมูลของคุณในหลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน เช่น ลักษณะบุคลิกภาพ เชาวน์ปัญญา ลักษณะอารมณ์ ลักษณะความสัมพันธ์ และอื่นๆ ซึ่งสามารถช่วยในการประเมินสถานการณ์ว่า วิธีให้คำปรึกษาแบบใดที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณมากที่สุด หลังจากนั้นผู้ให้คำปรึกษาจะนำข้อมูลที่ได้มากำหนดเป้าหมายในการให้คำปรึกษาร่วมกันระหว่างคุณกับผู้ให้คำปรึกษาเมื่อเริ่มขั้นตอนในการให้คำปรึกษา ซึ่งอาจประกอบไปด้วยการเรียนรู้วิธีการหรือทักษะใหม่ๆ ในการแก้ไขหรือการรับมือกับปัญหา การเข้าใจตนเองมากขึ้น การสำรวจรูปแบบในการใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะสามารถตอบสนองต่อลักษณะของปัญหา ความรุนแรงของปัญหา และเป้าหมายที่ได้วางร่วมกันไว้ตั้งแต่ต้นหรือที่ได้เพิ่มเติมขึ้นภายหลัง

ผู้ที่จะมาใช้บริการควรทำอย่างไรบ้าง
            การมาใช้บริการให้คำปรึกษารายบุคคลสำคัญที่ว่า ผู้ที่มาใช้บริการคาดหวังอะไรจากการให้คำปรึกษา ดังนั้น ผู้มารับคำปรึกษาอาจจดบันทึกเหตุการณ์และความสัมพันธ์ต่างๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น และนำเรื่องราวเหล่านี้มาใช้ในการบริการแต่ละครั้งว่าตนเองต้องการอะไร ซึ่งเป็นประโยชน์ในการมาใช้บริการของคุณได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากกระบวนการให้คำปรึกษานี้เป็นกระบวนการของคุณเอง ส่วนในกรณีที่คุณเกิดความกังวลใจหรือความรู้สึกบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกในแง่บวกหรือลบก็ตาม ซึ่งอาจเกิดขึ้นขณะที่ให้คำปรึกษาอยู่ คุณสามารถที่จะบอกให้กับผู้ให้คำปรึกษาทราบได้ เพื่อจะช่วยให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน สามารถช่วยเหลือคุณได้ทันเวลา และตรงตามเป้าหมายที่คุณต้องการ

2) การให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
            การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มและจิตบำบัดแบบกลุ่มทำได้ในหลายประเด็นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับความเครียด การพัฒนาความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น การรับประทานที่ผิดปกติ การให้คำปรึกษาที่เกี่ยวกับอาชีพ เป็นต้น

การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มต่างจากแบบรายบุคคลอย่างไร
            การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มช่วยคุณได้มุมมองหลายด้านด้วยกัน เนื่องจากการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มนั้น คุณจะไม่เพียงแต่ได้จัดการกับปัญหาของคุณเอง แต่คุณจะรับรู้ว่ามีผู้อื่นที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับคุณด้วย คุณจะมีโอกาสเข้าใจความคิด ความรู้สึกของตนเองมากขึ้น ผ่านการตอบสนองอย่างจริงใจ และตรงไปตรงมาจากสมาชิกในกลุ่ม รวมถึงรู้จักเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่นเดียวกับที่คุณได้เรียนรู้การเคารพตนเองและมีความมั่นใจในตัวเอง
            ในแต่ละขั้นตอนคุณจะได้รับการตอบสนองจากสมาชิกในกลุ่มรวมถึงผู้นำกลุ่มได้ทันที การเปิดเผยข้อมูลหรือความรู้สึกตนเอง การให้เกียรติให้ความเคารพต่อกันและกัน คุณจะสามารถเรียนรู้ได้ว่าคนอื่นมองคุณแบบไหน ทำให้เข้าใจในความคิด ความรู้สึกของตนเองมากยิ่งขึ้น และมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองในเรื่องต่างๆที่คุณต้องการ ยิ่งถ้าคุณได้เล็งเห็นว่าคุณตอบสนองต่อความรู้สึกหรือจากประสบการณ์ของผู้อื่นแบบใดจะยิ่งช่วยให้คุณเข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น
            การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเปิดโอกาสให้คุณได้แสดงความรู้สึกที่คุณกำลังลังเลใจอยู่ว่าจะแสดงออกมาดีหรือไม่ ได้มีโอกาสยืนยันกับตัวคุณเองว่าได้ทำการเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ และได้ทดลองทำตามความคิดใหม่ๆที่ได้จากการทำกลุ่ม ในขณะเดียวกันคุณจะได้สัมผัสกับความไว้วางใจและความปลอดภัยจากในกลุ่ม คุณจะมีความรู้สึกสบายใจขึ้น และยอมที่จะเปิดเผยเรื่องราวความรู้สึกที่ได้เกิดขึ้นมากมาย เพียงแต่คุณต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่าคุณอยากจะมีส่วนร่วมภายในกลุ่มมากน้อยเพียงใด
            การพูดคุยภายในกลุ่ม การเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัว การรับฟังในสิ่งที่สมาชิกคนอื่นพูด การถามคำถามเมื่อเกิดความไม่เข้าใจ การได้รับแรงสนับสนุน การได้รับการปลอบใจและความเห็นใจจากคนรอบข้าง หลายสิ่งหลายอย่างพร้อมที่จะเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจกับคุณ อย่างไรก็ดีก่อนที่สมาชิกในกลุ่มจะเริ่มพัฒนาความไว้วางใจจนยอมที่จะเปิดใจ เปิดเผยความรู้สึกต่างๆ พวกเขาต้องใช้เวลาทำกลุ่มอยู่หลายครั้ง ดังนั้นสมาชิกในกลุ่มจึงต้องใช้เวลาภายในกลุ่มเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ในกลุ่มด้วย

ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มควรทำอย่างไร
            ก่อนเข้ากลุ่มแต่ละครั้ง ให้คุณคิดถึงสิ่งที่คุณได้คาดหวังจากการเข้ากลุ่มครั้งนี้ให้ชัดเจน และในบางครั้งที่เป้าหมายของคุณอาจจะเปลี่ยนไปเมื่อคุณได้ผ่านขั้นตอนแต่ละขั้นในการทำกลุ่ม ตราบใดที่คุณยังเข้าใจถึงความคิดความรู้สึกของตนเอง และรับฟังสมาชิกคนอื่นภายในกลุ่ม คุณจะพบว่ามีปัญหาอื่นๆ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาที่สำคัญกว่าปัญหาเดิมที่คุณมีอยู่แล้วด้วย หากพบว่าตัวเองไม่ได้รับสิ่งที่คุณต้องการจากกลุ่ม คุณสามารถที่จะพูดคุยเรื่องนี้กับสมาชิกในกลุ่มได้

3) การให้คำปรึกษาแบบครอบครัว
            การให้คำปรึกษาในลักษณะครอบครัวจะสามารถแยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. การให้คำปรึกษากับผู้ที่คิดจะเริ่มต้นสร้างครอบครัว
            การเริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่ หากเราไม่ศึกษากันให้ดีแล้ว ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันมักจะตามมา พร้อมด้วยปัญหาต่างๆ นานาซึ่งจะก่อให้เกิดการหย่าร้างในภายหน้าได้ แต่หากเราได้เรียนรู้ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น และพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ชีวิตก็จะพลอยมีความสุขด้วย
            การให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมตัวแต่งงาน หรือเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสร้างครอบครัวใหม่นี้เป็นการให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง 6 ครั้ง เพื่อเตรียมตัวในการเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน โดยคู่สมรสจะเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นต่างๆ เช่น การวางแผนชีวิตคู่ เป้าหมายร่วมกันในอนาคต การสื่อสารกันอย่างเข้าใจ การปรับตัวเข้าหากัน การแก้ไขความขัดแย้ง เรียนรู้ความคาดหวังของกันและกัน การปรับบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน และการรักษาชีวิตคู่ให้หวานชื่นและยาวนาน เป็นต้น
            ดังนั้นการให้คำปรึกษาก่อนเริ่มสร้างครอบครัวใหม่ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อชีวิตสมรสของคุณ ที่จะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ความสุข และความอบอุ่นตลอดไป

2. การให้คำปรึกษากับผู้ที่มีครอบครัวแล้ว
            สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีชีวิตที่ดี มีความรักความเข้าใจกัน มีความอบอุ่นและห่วงหาอาทรกัน ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวสามารถเผชิญและดำเนินชีวิตในสังคมนี้ได้อย่างดี หากครอบครัวมีปัญหาไม่เข้าใจกัน ปัญหาต่างๆ ก็จะตามมา และลุกลามไปเป็นปัญหาในสังคมของคนส่วนใหญ่ได้
            การให้คำปรึกษารูปแบบนี้ สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ทั้งครอบครัว เพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆ เช่น ลูกติดเกม การสื่อสารกับลูกที่เป็นวัยรุ่น การแก้ไขความขัดแย้ง เพศสัมพันธ์กับคู่สมรส การจัดการกับอดีตที่ขมขื่น การจัดการกับความทุกข์ การจัดการกับความซึมเศร้า การปรับตัวเมื่อเข้าสู่วัยทอง การสร้างสัมพันธ์ในครอบครัว และการพัฒนาความรักให้ยืนยาว เป็นต้น